โครงการจัดทำภาพลักษณ์ ตราผลิตภัณฑ์ "ภัทรพัฒน์"
โครงการจัดทำภาพลักษณ์ ตราผลิตภัณฑ์ "ภัทรพัฒน์"
ความเป็นมา
ด้วย สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ทั่วประเทศ ทั้งนี้การดำเนินในพื้นที่ต่างๆ มีผลผลิตทางการเกษตรที่มีความหลากหลายและจำนวนมาก ยากที่จะดำเนินการทำการตลาดของแต่ละพื้นที่เอง สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงเห็นควรว่าน่าจะจัดทำตราสินค้าเพื่อเป็นการรวมสินค้าในพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาต่างๆ ทั่วประเทศ และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรภายในบริเวณรอบๆ พื้นที่โครงการ จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อตราสินค้าดังกล่าว
พระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการโครงการจัดทำภาพลักษณ์ ตราผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ หรือ PATPAT
หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
ผลการดำเนินงาน
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมกับคณะอาจารย์ จากศูนย์ศึกษาในเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อหาแนวทางในการทำแผนสร้างภาพลักษณ์ของตราสินค้า เพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้า และมีเอกลักษณ์เฉพาะสามารถใช้เป็นกลไกในการพัฒนาด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการขยายผลการพัฒนาไปสู่กลุ่มชุมชนและเกษตรกรในระยะต่อไป และได้ทำสัญญาบันทึกข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการดำเนินการดังกล่าวโดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะโดยเริ่มจากขั้นตอนเตรียมการดำเนินงาน การศึกษา วิจัย วิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดแบบร่างของแนวคิด และการพัฒนาแบบและให้คำปรึกษาในระยะยาวต่อไป จากนั้นสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมประชุมหารือกับ คุณศิริกุล เลากัยกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท The Brandbeing Consultant Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการตลาดให้กับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาแนวคิดและกำหนดภาพลักษณ์ของตราผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตรา ภัทรพัฒน์ โดยสรุปข้อเสนอ แนวคิดของคุณศิริกุล เลากัยกุล ดังนี้
- ขอบข่ายธุรกิจ (Business Concept) : การพัฒนาสินค้าและบริการจากโครงการตามพระราชดำริ ให้มีมูลค่าเพิ่มและมีศักยภาพในการเติบโตด้วยตนเอง
- ความมุ่งมั่น (Passion) : ทำในสิ่งที่คนไม่คิดจะทำ ทำในสิ่งที่คนไม่มีปัญญาจะทำ เพื่อการจุดประกาย ต่อยอด สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- จุดยืน (Positioning) : สินค้าต้นแบบ สำหรับคนต้นแบบ
- คุณลักษณะของภัทรพัฒน์ (Attribute) :
1. คุณภาพจากแหล่งกำเนิด
2. พัฒนาตามพลังธรรมชาติ
3. คุณค่าจากแนวคิด
4. ไม่สมบูรณ์พร้อมแต่ดีพอ
- คำมั่นสัญญา (Promise) : ความภาคภูมิใจ โอกาสไทยพัฒนา - ความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาจะมุ่งเน้นในการช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนและมีปัญหาในการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา โดยผลผลิตที่เกษตรกรเหล่านี้เป็นผู้ดำเนินการ จะได้รับการพัฒนามาจากจุดเริ่มต้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดความรู้จากชุมชนสู่ชุมชน ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตจากท้องถิ่น โดยจะมีที่มาของผลิตภัณฑ์ อาทิ กระบวนการพัฒนาความคิด กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการพัฒนาการผลิตจากชุมชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา มีแนวคิดด้านผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- เป็นผลผลิตที่ผลิตได้จากพื้นที่โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา รวมทั้งพื้นที่ขยายผลการพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่มูลนิธิชัยพัฒนา ให้การสนับสนุน
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง
1. ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้วัตถุดิบของชุมชนมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์
2. ผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนทำเป็นอาชีพอยู่เดิมแล้วนำมาพัฒนาต่อยอด เพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบและปรับปรุงในด้านการออกแบบ
3. ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยมูลนิธิชัยพัฒนาและจำหน่ายโดยมูลนิธิชัยพัฒนา ในนาม ภัทรพัฒน์
- ในด้านช่องทางการจัดจำหน่าย จะแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1. จัดจำหน่ายในช่องทางเดิมในชุมชน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนทำเป็นอาชีพอยู่เดิมแล้ว
2. จัดจำหน่ายโดยผ่านช่องทางของภัทรพัฒน์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้พัฒนาขึ้น
การดำเนินการในระยะต่อไป
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะดำเนินงานต่อเนื่องในการประสานงานกับ ศูนย์ศึกษาในเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมกับดำเนินงานร่วมกับ คุณศิริกุล เลากัยกุล ในการทำสรุปเรื่องภาพลักษณ์ เพื่อให้สะท้อนการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่แท้จริง รวมทั้งการเผยแพร่การดำเนินงานที่มีความสอดคล้อง และดำเนินไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา มีแผนการดำเนินงานเป็นลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ภายใต้การดูแลของโครงการทั่วประเทศ ทำการคัดเลือกและแบ่งประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ โดยจะดำเนินการการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และผ่านมาตรฐานที่ตลาดรับรอง พร้อมกับหาช่องทางการตลาดควบคู่ไปพร้อมกัน
2. วางแผนการดำเนินงานเพื่อเปิดตัวและแนะนำตราผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ หรือ PATPAT ภายในปี 2552
3. ประสานกับกลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา และพื้นที่เครือข่าย เพื่อทำความเข้าใจและวางแผนร่วมกันในการพัฒนาสินค้าภายใต้ ตราผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ หรือ PATPAT
ในการนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาเห็นว่า หญ้าแฝก เป็นพืชที่มีศักยภาพ และสามารถพัฒนาส่งเสริมในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และสามารถนำใบแฝกที่เป็นผลพลอยได้จากการปลูกแฝกมาใช้ในการพัฒนาเป็นหัตถกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมกลุ่มอาชีพและพัฒนากระบวนการตลาดภายใต้ตราสินค้า ภัทรพัฒน์ หรือ PATPAT ในระยะต่อไป โดยเลือกหญ้าแฝกเป็นเป้าหมายแรกในการทดลองดำเนินการ